ประวัติความเป็นมา
กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
ความจำเป็นในการบริหารจัดการกองทุนกีฬาในการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมากองทุนกีฬาใน กกท. มีจำนวน 5 กองทุน เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการพัฒนากีฬาของชาติ และเพื่อให้การบริหารงานของกองทุนทั้งหมดเป็นเอกภาพ และมีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนากีฬา โดยจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และนโยบายด้านการกีฬาของรัฐ รัฐบาลจึงได้มีนโยบายและควบรวมกองทุนกีฬาใน กกท. ดังนี้
1. ประวัติความเป็นมาของการควบรวมกองทุน
1.1 ความเป็นมาของกองทุนที่จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี (เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558)
สืบเนื่องจากรัฐบาล ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการสนับสนุนการพัฒนากีฬาของชาติ ให้มีศักยภาพและสามารถดำเนินกิจการส่งเสริมกีฬาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้กับรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 กำหนดมาตรการเร่งรัดพัฒนามาตรฐานการกีฬาของประเทศอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการส่งเสริมสวัสดิการบำรุงขวัญและกำลังใจของนักกีฬา หรือส่งเสริมการกีฬาของประเทศให้สู่มาตรฐานสากล ประกอบกับ สมาคมกีฬามีปัญหาหลักต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาด้านงบประมาณสนับสนุนสมาคมกีฬาที่ได้รับจากภาครัฐบาลไม่เพียงพอสำหรับการบริหารงาน และดำเนินกิจกรรมกีฬาให้มีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ประธานกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น จึงได้เสนอเรื่อง “การจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้จัดตั้งกองทุน โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย
อนึ่ง ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ครั้งนี้ จะไม่กระทบกระเทือนการบริหารงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย แต่จะเป็นการเสริมให้การบริหารงานการกีฬาโดยรวมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกองทุน เป็นหน่วยงานที่จัดอยู่ในประเภทเพื่อการสนับสนุนส่งเสริม ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด มีภารกิจให้การสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนากีฬาชาติไปสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐบาลปีละไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 เห็นชอบให้เงินงบประมาณประจำปี ไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในแต่ละปี โดยสอดคล้องกับกิจกรรมทางด้านกีฬาที่กองทุน ต้องสนับสนุนตามระเบียบหลักเกณฑ์
ต่อมาการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้นำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท โดยมีหนังสือเรียน ราชเลขาธิการ เรื่อง ขอพระราชทาน “ชื่อกองทุน” ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุนกีฬาของชาติ ตลอดจนเพื่อพัฒนาองค์กรกีฬาและสมาคมกีฬาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว จะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อ วงการกีฬาของชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เพื่อเป็นสิริมงคลต่อการบริหารจัดการ กองทุน จึงได้ขอพระราชทานชื่อกองทุน ในการนี้ ราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อกองทุน ว่า “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2545”
1.2 ความเป็นมาของกองทุนที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเดิมที่จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นว่าเพื่อต้องการปรับปรุงข้อกฎหมายให้สอดรับกับการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาในทางปฏิบัติมากมายไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อกองทุน จะทำให้กองทุนมีแหล่งงบประมาณมากขึ้นเป็นการแก้ไขการขาดแคลนงบประมาณในระยะยาว ทำให้การพัฒนากีฬาเกิดความต่อเนื่อง จึงมีนโยบายให้แก้ไขพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 ดังนั้น คณะรัฐมนตรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มกราคม 2558 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ดังกล่าวแล้วลงมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย และด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 21 ก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558
สำหรับในพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ตามมาตรา 133 กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ตลอดจนงบประมาณของกองทุนการศึกษาของนักกีฬาตามข้อบังคับการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริหารกองทุนการศึกษาของนักกีฬา พ.ศ. 2547 กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดการเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2548 และกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ว่าด้วยการบริหารการใช้จ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2545 ไปเป็นของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ จึงมีผลให้มีการรวมกองทุนกีฬาในการกีฬาแห่งประเทศไทยทั้งสาม กองทุน ได้แก่ กองทุนการศึกษาของนักกีฬา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ให้เป็น “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ ประกอบกับทั้งสามกองทุนมีภารกิจงานที่คล้ายคลึงกัน และมีที่มาจากการจัดตั้ง ดังนี้
-
-
- กองทุนสวัสดิการนักกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดตั้งเมื่อปี 2532 ซึ่งคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมและการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความช่วยเหลือขอความร่วมมือจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยออกตราไปรษณีย์ยากร และนำเงินมอบให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ในปี 2533 เป็นเงิน 5,000,000 บาท
- กองทุนการศึกษาของนักกีฬา จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 ได้รับเงินประเดิมจากรัฐบาล รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 41,171,075 บาท ซึ่งเป็นเงินที่เหลือจ่ายจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 และเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนากีฬา ซึ่งถูกยุบเลิกในขณะนั้น
- กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ได้รับเงินประเดิมจากรัฐบาล เป็นเงิน 300,000,000 บาท
-
1.3 การควบรวมกองทุน ครั้งที่สอง
สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการวิเคราะห์และเสนอแนวทางในการปฏิรูปทุนหมุนเวียน ในกรณีที่จะต้องดำเนินการปรับปรุง พัฒนา ยุบรวม หรือยุบเลิกกองทุนตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 และวันที่ 19 สิงหาคม 2557 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการนำเงินกองทุนหมุนเวียนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินความจำเป็นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
ต่อมา สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รายงานผลการตรวจสอบงบการเงินของทุนหมุนเวียนที่ตรวจสอบ พบว่ามีความซ้ำซ้อน ไม่ประหยัด คุ้มค่าและเหมาะสมในการดำเนินการ จำนวน 13 ทุน เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนสถานะทุนหมุนเวียนดังกล่าว โดยให้ยุบรวม 2 ทุน และยุบเลิก 11 ทุน
สำหรับการยุบรวมหรือยุบเลิกกองทุน กระทรวงการคลังได้พิจารณาแนวทางการปฏิรูป ทุนหมุนเวียนโดยการควบรวมหรือยุบเลิกกองทุน ซึ่งได้พิจารณาจากวัตถุประสงค์และการดำเนินการ ตามภารกิจของทุนหมุนเวียนต่างๆ ประกอบกับนายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับการทบทวนสถานะทุนหมุนเวียนต่างๆ ด้วยแล้ว โดยสมควรควบรวม “กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ และกองทุนกีฬามวย” เป็นทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการส่งเสริม การสนับสนุน การพัฒนา และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกีฬา ในชั้นนี้ เพื่อบูรณาการงานด้านกีฬาให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ และลดภาระด้านงบประมาณ จึงให้ควบรวมกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพและกองทุนกีฬามวย เป็นส่วนหนึ่งของ “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือ และสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา โดยมีแหล่งรายได้หลักจากเงินที่เรียกเก็บจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีสุราและยาสูบ ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท ซึ่งมีศักยภาพรองรับการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพและกองทุนกีฬามวย
คณะรัฐมนตรี ได้ประชุมปรึกษา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ลงมติว่า
(1) รับทราบผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 การดำเนินการของคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และการปรับเงินนำส่งคงเหลือ จำนวน 28,081.15 ล้านบาท
(2) ให้ความเห็นชอบแนวทางการปฏิรูปทุนหมุนเวียนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ในการควบรวม ยุบเลิก และคงสถานะทุนหมุนเวียน โดยให้หน่วยงานเจ้าของทุนหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียนนั้นๆ พร้อมทั้งนำเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป
(3) อนุมัติให้รวมทุนหมุนเวียน จำนวน 2 ทุน และยุบเลิกทุนหมุนเวียน จำนวน 2 ทุน ตามมาตรา 7 แห่งประราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2543
(4) ให้กระทรวงการคลัง รายงานผลการพิจารณาทุนหมุนเวียน ตามข้อเสนอของสำนักงานการตรวจสอบเงินแผ่นดิน (สตง.) และให้เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (27 มกราคม 2558) และ 23 มิถุนายน 2558 ที่ให้กระทรวงการคลัง เสนอวิธีการนำเงินทุนหมุนเวียนที่มีสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นไปใช้ประโยชน์ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในช่วง 1 ปี ต่อคณะรัฐมนตรี และเร่งรัดการนำเงินทุนหมุนเวียนส่วนเกินในส่วนที่เหลือส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินให้ครบถ้วนโดยด่วนต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 มาตรา 42 เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้รวมทุนหมุนเวียนใด ให้มีผลเป็นการโอนทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพัน สิทธิ หน้าที่ พนักงานและลูกจ้างของทุนหมุนเวียนเดิมไปเป็นของทุนหมุนเวียนที่คงอยู่ ภายหลังการรวมทุนหมุนเวียน หรือของทุนหมุนเวียนใหม่ เว้นแต่ในกรณีที่ทุนหมุนเวียนใดจัดตั้งขึ้นในกฎหมายเฉพาะ ให้ดำเนินการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อรวมทุนหมุนเวียนนั้น
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการควบรวมกองทุนกีฬา ซึ่งประกอบด้วย กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ และกองทุนกีฬามวย ควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 63/2559 สั่ง ณ วันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง การส่งเสริม สนับสนุน และปฏิรูปการกีฬาของประเทศ ได้มีมาตรการให้ควบรวมกองทุนกีฬาอาชีพ และกองทุนกีฬามวย เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมกับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ เพื่อให้กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สามารถดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬาตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยกีฬามวย และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาอาชีพได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับการควบรวมกองทุน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการของการกีฬาแห่งประเทศไทยและกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ตราพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ขึ้นมา เพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น
2. สภาพการดำเนินงานกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในการกีฬาแห่งประเทศไทย
กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ บริหารโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 36 เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือ และจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา โดยมีวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้
(1) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมกีฬา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนการเตรียมนักกีฬาเพื่อให้เป็นนักกีฬา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
(4) สนับสนุนเงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา ที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” ซึ่งประกอบคุณความดีแก่การกีฬาของชาติหรือนำชื่อเสียงเกียรติภูมิมาสู่ประเทศชาติ
(5) สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักกีฬาและบุคลากรกีฬา
(6) ช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และผู้ซึ่งประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับความเสียหายหรืออันตรายจากการแข่งขันกีฬา และกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์
(7) ส่งเสริมและสนับสนุนกีฬามวยตามกฎหมายว่าด้วยกีฬามวย และกีฬาอาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาอาชีพ
(8) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน