หน้าแรก เกี่ยวกับกองทุน ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

          ความจำเป็นในการบริหารจัดการกองทุนกีฬาในการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมากองทุนกีฬาใน กกท. มีจำนวน 5 กองทุน เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการพัฒนากีฬาของชาติ และเพื่อให้การบริหารงานของกองทุนทั้งหมดเป็นเอกภาพ และมีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนากีฬา โดยจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และนโยบายด้านการกีฬาของรัฐ รัฐบาลจึงได้มีนโยบายและควบรวมกองทุนกีฬาใน กกท. ดังนี้

1. ประวัติความเป็นมาของการควบรวมกองทุน

1.1 ความเป็นมาของกองทุนที่จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี (เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558)

          สืบเนื่องจากรัฐบาล ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการสนับสนุนการพัฒนากีฬาของชาติ ให้มีศักยภาพและสามารถดำเนินกิจการส่งเสริมกีฬาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้กับรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 กำหนดมาตรการเร่งรัดพัฒนามาตรฐานการกีฬาของประเทศอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการส่งเสริมสวัสดิการบำรุงขวัญและกำลังใจของนักกีฬา หรือส่งเสริมการกีฬาของประเทศให้สู่มาตรฐานสากล ประกอบกับ สมาคมกีฬามีปัญหาหลักต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาด้านงบประมาณสนับสนุนสมาคมกีฬาที่ได้รับจากภาครัฐบาลไม่เพียงพอสำหรับการบริหารงาน และดำเนินกิจกรรมกีฬาให้มีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง

          จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์) ประธานกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น จึงได้เสนอเรื่อง “การจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้จัดตั้งกองทุน โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย

อนึ่ง ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ครั้งนี้ จะไม่กระทบกระเทือนการบริหารงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย แต่จะเป็นการเสริมให้การบริหารงานการกีฬาโดยรวมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกองทุน เป็นหน่วยงานที่จัดอยู่ในประเภทเพื่อการสนับสนุนส่งเสริม ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด มีภารกิจให้การสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนากีฬาชาติไปสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐบาลปีละไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท  (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 เห็นชอบให้เงินงบประมาณประจำปี ไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในแต่ละปี โดยสอดคล้องกับกิจกรรมทางด้านกีฬาที่กองทุน ต้องสนับสนุนตามระเบียบหลักเกณฑ์

ต่อมาการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้นำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท โดยมีหนังสือเรียน ราชเลขาธิการ เรื่อง ขอพระราชทาน “ชื่อกองทุน” ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุนกีฬาของชาติ ตลอดจนเพื่อพัฒนาองค์กรกีฬาและสมาคมกีฬาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว จะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อ วงการกีฬาของชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เพื่อเป็นสิริมงคลต่อการบริหารจัดการ กองทุน จึงได้ขอพระราชทานชื่อกองทุน ในการนี้ ราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อกองทุน ว่า “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2545”

1.2 ความเป็นมาของกองทุนที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558

กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเดิมที่จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นว่าเพื่อต้องการปรับปรุงข้อกฎหมายให้สอดรับกับการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาในทางปฏิบัติมากมายไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อกองทุน จะทำให้กองทุนมีแหล่งงบประมาณมากขึ้นเป็นการแก้ไขการขาดแคลนงบประมาณในระยะยาว ทำให้การพัฒนากีฬาเกิดความต่อเนื่อง จึงมีนโยบายให้แก้ไขพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 ดังนั้น คณะรัฐมนตรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มกราคม 2558 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ดังกล่าวแล้วลงมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมาย และด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 21 ก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558

สำหรับในพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ตามมาตรา 133 กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ตลอดจนงบประมาณของกองทุนการศึกษาของนักกีฬาตามข้อบังคับการกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริหารกองทุนการศึกษาของนักกีฬา พ.ศ. 2547 กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดการเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2548 และกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ว่าด้วยการบริหารการใช้จ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2545 ไปเป็นของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ จึงมีผลให้มีการรวมกองทุนกีฬาในการกีฬาแห่งประเทศไทยทั้งสาม กองทุน ได้แก่ กองทุนการศึกษาของนักกีฬา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และกองทุนสวัสดิการนักกีฬา ให้เป็น “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ ประกอบกับทั้งสามกองทุนมีภารกิจงานที่คล้ายคลึงกัน และมีที่มาจากการจัดตั้ง ดังนี้

      1. กองทุนสวัสดิการนักกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดตั้งเมื่อปี 2532 ซึ่งคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมและการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความช่วยเหลือขอความร่วมมือจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยออกตราไปรษณีย์ยากร และนำเงินมอบให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ในปี 2533 เป็นเงิน 5,000,000 บาท
      2. กองทุนการศึกษาของนักกีฬา จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 ได้รับเงินประเดิมจากรัฐบาล รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 41,171,075 บาท  ซึ่งเป็นเงินที่เหลือจ่ายจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 และเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนากีฬา ซึ่งถูกยุบเลิกในขณะนั้น
      3. กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ได้รับเงินประเดิมจากรัฐบาล เป็นเงิน 300,000,000 บาท

1.3 การควบรวมกองทุน ครั้งที่สอง

สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการวิเคราะห์และเสนอแนวทางในการปฏิรูปทุนหมุนเวียน ในกรณีที่จะต้องดำเนินการปรับปรุง พัฒนา ยุบรวม หรือยุบเลิกกองทุนตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 และวันที่ 19 สิงหาคม 2557 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการนำเงินกองทุนหมุนเวียนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินความจำเป็นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ต่อมา สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รายงานผลการตรวจสอบงบการเงินของทุนหมุนเวียนที่ตรวจสอบ พบว่ามีความซ้ำซ้อน ไม่ประหยัด คุ้มค่าและเหมาะสมในการดำเนินการ จำนวน 13 ทุน เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนสถานะทุนหมุนเวียนดังกล่าว โดยให้ยุบรวม 2 ทุน และยุบเลิก 11 ทุน

สำหรับการยุบรวมหรือยุบเลิกกองทุน กระทรวงการคลังได้พิจารณาแนวทางการปฏิรูป  ทุนหมุนเวียนโดยการควบรวมหรือยุบเลิกกองทุน ซึ่งได้พิจารณาจากวัตถุประสงค์และการดำเนินการ ตามภารกิจของทุนหมุนเวียนต่างๆ ประกอบกับนายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับการทบทวนสถานะทุนหมุนเวียนต่างๆ ด้วยแล้ว โดยสมควรควบรวม “กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ และกองทุนกีฬามวย” เป็นทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการส่งเสริม การสนับสนุน การพัฒนา และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกีฬา ในชั้นนี้ เพื่อบูรณาการงานด้านกีฬาให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ และลดภาระด้านงบประมาณ จึงให้ควบรวมกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพและกองทุนกีฬามวย เป็นส่วนหนึ่งของ “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือ และสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา โดยมีแหล่งรายได้หลักจากเงินที่เรียกเก็บจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีสุราและยาสูบ ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท ซึ่งมีศักยภาพรองรับการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพและกองทุนกีฬามวย

คณะรัฐมนตรี ได้ประชุมปรึกษา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ลงมติว่า

(1) รับทราบผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 การดำเนินการของคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และการปรับเงินนำส่งคงเหลือ จำนวน 28,081.15 ล้านบาท
(2) ให้ความเห็นชอบแนวทางการปฏิรูปทุนหมุนเวียนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ในการควบรวม ยุบเลิก และคงสถานะทุนหมุนเวียน โดยให้หน่วยงานเจ้าของทุนหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียนนั้นๆ พร้อมทั้งนำเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป
(3) อนุมัติให้รวมทุนหมุนเวียน จำนวน 2 ทุน และยุบเลิกทุนหมุนเวียน จำนวน 2 ทุน ตามมาตรา 7 แห่งประราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2543
(4) ให้กระทรวงการคลัง รายงานผลการพิจารณาทุนหมุนเวียน ตามข้อเสนอของสำนักงานการตรวจสอบเงินแผ่นดิน (สตง.) และให้เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (27 มกราคม 2558) และ 23 มิถุนายน 2558 ที่ให้กระทรวงการคลัง เสนอวิธีการนำเงินทุนหมุนเวียนที่มีสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นไปใช้ประโยชน์ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในช่วง 1 ปี ต่อคณะรัฐมนตรี และเร่งรัดการนำเงินทุนหมุนเวียนส่วนเกินในส่วนที่เหลือส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินให้ครบถ้วนโดยด่วนต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 มาตรา 42 เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้รวมทุนหมุนเวียนใด ให้มีผลเป็นการโอนทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพัน สิทธิ หน้าที่ พนักงานและลูกจ้างของทุนหมุนเวียนเดิมไปเป็นของทุนหมุนเวียนที่คงอยู่ ภายหลังการรวมทุนหมุนเวียน หรือของทุนหมุนเวียนใหม่ เว้นแต่ในกรณีที่ทุนหมุนเวียนใดจัดตั้งขึ้นในกฎหมายเฉพาะ ให้ดำเนินการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อรวมทุนหมุนเวียนนั้น

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการควบรวมกองทุนกีฬา ซึ่งประกอบด้วย กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ และกองทุนกีฬามวย ควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 63/2559 สั่ง ณ วันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง การส่งเสริม สนับสนุน และปฏิรูปการกีฬาของประเทศ ได้มีมาตรการให้ควบรวมกองทุนกีฬาอาชีพ และกองทุนกีฬามวย เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมกับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ เพื่อให้กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สามารถดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬาตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยกีฬามวย และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาอาชีพได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับการควบรวมกองทุน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการของการกีฬาแห่งประเทศไทยและกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ตราพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ขึ้นมา เพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น

2. สภาพการดำเนินงานกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในการกีฬาแห่งประเทศไทย

กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ บริหารโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 36 เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือ และจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา โดยมีวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้

(1) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมกีฬา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนการเตรียมนักกีฬาเพื่อให้เป็นนักกีฬา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
(4) สนับสนุนเงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา ที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” ซึ่งประกอบคุณความดีแก่การกีฬาของชาติหรือนำชื่อเสียงเกียรติภูมิมาสู่ประเทศชาติ
(5) สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักกีฬาและบุคลากรกีฬา
(6) ช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และผู้ซึ่งประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับความเสียหายหรืออันตรายจากการแข่งขันกีฬา และกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์
(7) ส่งเสริมและสนับสนุนกีฬามวยตามกฎหมายว่าด้วยกีฬามวย และกีฬาอาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาอาชีพ
(8) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน


กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (National Sports Development Fund)

"ชัยชนะของคุณ คือความสำเร็จของเรา"

เกี่ยวกับกองทุน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า